简体中文
繁體中文
English
Pусский
日本語
ภาษาไทย
Tiếng Việt
Bahasa Indonesia
Español
हिन्दी
Filippiiniläinen
Français
Deutsch
Português
Türkçe
한국어
العربية
บทคัดย่อ:โดย Barani Krishnan Investing.com - ภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นแล้ว และตามหลักการทั่วไปก็คือ เราควรซื้อทองค
โดย Barani Krishnan
Investing.com - ภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้นแล้ว และตามหลักการทั่วไปก็คือ เราควรซื้อทองคำ ที่จริงแล้วประวัติความเป็นมาในการซื้อทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน
ทองคำมีผลตอบแทนไม่คงที่ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา แม้จะมีแรงกดดันด้านราคาที่คืบคลานเข้ามาและกลัวว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในปีนี้ จะแย่ที่สุดในรอบ 35 ปี
ผู้ที่ประหลาดใจหรือผิดหวังกับสิ่งนี้อาจได้รับประโยชน์จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของผลตอบแทนโลหะมีค่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
การวิเคราะห์ผลตอบแทนของทองคำของ Morningstar ในช่วงอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดบางช่วงของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 แสดงให้เห็นว่า ผลตอบแทนจากทองคำติดลบสำหรับนักลงทุนระยะยาว
ที่จริงแล้ว สินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทองคำ เช่นเดียวกับกองทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ และ {ecl-1040||พันธบัตรที่เป็นหลักทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ (TIPS)}} สร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าทองคำและดูจะเป็นสิ่งที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อในช่วงเวลาเช่นนี้
ช่วงปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน สัญญาซื้อขายล่วงหน้าทองคำในตลาด Comex ของนิวยอร์ก ลดลง 1.4% ส่วนราคาสปอตทองคำซึ่งสะท้อนถึงการซื้อขายจริงในทองคำแท่งนั้น ลดลงเกือบ 1% ในปีนี้
เปรียบเทียบกับ ดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ทั่วโลกยอมรับ ขยายตัวขึ้นในอัตรา 5% ต่อปีในเดือนพฤษภาคม ในสหรัฐอเมริกา
ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดใช้ เพิ่มขึ้น 3.6% ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนเมษายน
เป้าหมายของเฟดในการรักษาอัตราเงินเฟ้อประจำปีที่ต่ำกว่า 2% แทบจะไม่มีปัญหาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิดและเกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐหยุดชะงักอย่างเรื้อรัง
อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้กลายมาเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่อยู่ในใจของนักลงทุน แต่ทองคำไม่ได้เป็นทางออกของปัญหาอย่างที่คาดหวังสักเท่าไร
เอมี่ อาร์นอท นักยุทธศาสตร์พอร์ตโฟลิโอของ Morningstar กล่าวในโพสต์ประจำสัปดาห์ของ CNBC ซึ่งวิเคราะห์ผลตอบแทนของสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าค่าเฉลี่ยในสหรัฐอเมริกาว่า “ทองคำไม่ใช่เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่สมบูรณ์แบบ” สำหรับอัตราเงินเฟ้อ
“ไม่มีการรับประกันว่าเมื่อเงินเฟ้อสูง ทองคำจะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ย” อาร์นอทกล่าวเสริม
เธออธิบายว่า ค่าสัมพัทธ์ของทองคำกับอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ อยู่ที่ 0.16 ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทองคำและอัตราเงินเฟ้อติดตามกันอย่างใกล้ชิดเพียงใด ค่าสัมพัทธ์ 0 จะหมายความว่า ไม่มีความสัมพัทธ์กันเลย ในขณะที่ 1 หมายความว่าพวกมันเคลื่อนไหวสอดคล้องกัน
การวิจัยของอาร์นอทแสดงให้เห็นว่า นักลงทุนที่ซื้อเฉพาะทองคำในระยะยาวขาดทุนประมาณ 10% โดยเฉลี่ยระหว่างปี 1980 ถึง 1984 ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อประจำปีอยู่ที่ประมาณ 6.5%
ในทำนองเดียวกัน ทองคำให้ผลตอบแทนติดลบ 7.6% จากปี 1988 ถึง 1991 ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 4.6%
กองทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ผลตอบแทน 11.5% 20.4% และ 9% จากปี 1973-79, 1980-84 และ 1988-91 ตามลำดับ สินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทองคำให้ผลตอบแทน 19.4%, 2.3% และ 21% ในช่วงเวลาเดียวกัน
สำหรับยุคสมัยนี้ ราคาทองคำพุ่งขึ้นสูงสุดในช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปีที่ผ่านมา โดยขยับจากระดับต่ำสุดเกือบ 1,477 ดอลลาร์ในวันที่ 17 มีนาคม เป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,120 ดอลลาร์ในวันที่ 7 สิงหาคม หรือเพิ่มขึ้น 44%
แต่ในฐานะสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ ทองคำทำผลตอบแทนได้ดีในช่วงปี 1973 ถึง 1979 โดยเพิ่มขึ้น 35% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อประจำปีในช่วงเวลานั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 8.8%
การวิเคราะห์ของฉันเองแสดงให้เห็นว่า นักเก็งกำไรทองคำ ไม่ว่าในภาวะตลาดกระทิงหรือตลาดหมี อาจเหมาะที่จะลงสนามในช่วงนี้ โดยการซื้อที่ราคาประมาณ 1,850 ดอลลาร์ และขายที่ใกล้ ๆ ระดับ 1,900 ดอลลาร์
เป้าหมายส่วนต่าง 40-50 ดอลลาร์ สำหรับการซื้อขายแต่ละครั้งอาจดูเหมือนเป็นแนวทางในการซื้อขายทองคำแบบโง่เขลาในช่วงที่สัญญาณกราฟและจุดตัดของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรกับค่าเงินดอลลาร์เป็นตัวกำหนดทิศทาง
ถึงกระนั้นก็ตาม ความผันผวนรายสัปดาห์ในตลาด Comex ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมแสดงให้เห็นว่า ทองคำมีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่ากลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงที่ซับซ้อนในรูปแบบอื่น ๆ
เมื่อใกล้สิ้นสุดสัปดาห์ รูปแบบที่คุ้นเคยได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ส่งผลให้ราคาทองคำกลับมาซื้อขายใกล้ระดับ 1,900 ดอลลาร์
ค่าสูงสุดของ Comex ในสัปดาห์อยู่ที่ 1,906.15 ดอลลาร์ ในขณะที่ระดับต่ำสุดอยู่ที่ 1,871.95 ดอลลาร์ มีระยะห่างอยู่ในช่วง 30-50 ดอลลาร์เหมือนเดือนที่ผ่านมา
ทองคำปรับตัวลดลงจากราคา 1,900 ดอลลาร์ หลังมีการเปิดเผยรายงานของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเมื่อวันศุกร์ ต่อจาก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือนมิถุนายนซึ่งอยู่ที่ 86.4 เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ที่ 84.2 และตัวเลข 82.9 ของเดือนพฤษภาคม
ส่งผลให้ ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี สูงขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 1.462
ความเสียหายที่หนักกว่าอาจมาจากการดีดตัวขึ้นของค่าเงิน ดอลลาร์ ในวันศุกร์ แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์จะไม่ได้สูงเกินไป โดยมีระดับสูงสุดระหว่างวันอยู่ที่ 90.61
ฟิลลิป สตริบเบิล นักยุทธศาสตร์ด้านโลหะมีค่าของ Blueline Futures กล่าวว่า การเคลื่อนไหวตามตรรกะของค่าเงินดอลลาร์ ไม่ได้เอื้อหนุนการซื้อขายทองคำเมื่อวันศุกร์เลย
“มันดูจะเป็นปัญหาเดียวกันทุกสัปดาห์” สตริบเบิลกล่าว “ระหว่างทองคำ ดอลลาร์ และผลตอบแทนพันธบัตร มันหมุนไปพร้อม ๆ กัน และคุณก็พยายามตัดสินใจว่าจะเลือกอย่างไหน ทั้ง ๆ ที่ไม่มีตัวเลือกไหนที่ดีเลย”
ตลาดทองคำและบทสรุปราคา
สัญญาซื้อขายล่วงหน้าทองคำสำหรับการส่งมอบในเดือนสิงหาคม ในตลาด Comex ซื้อขายล่าสุดที่ 1,879.25 ดอลลาร์ต่อออนซ์ก่อนวันหยุดสุดสัปดาห์ หลังจากปิดการซื้อขายในวันศุกร์ที่ 1,879.60 ดอลลาร์ ลดลง 16.80 ดอลลาร์หรือ 0.9% โดยรวมทั้งสัปดาห์ลดลง 0.7%
ราคา สปอตทองคำ จบการซื้อขายในวันศุกร์ที่ 1,877.72 ดอลลาร์ ลดลง 20.31 ดอลลาร์ หรือ 1.1% โดยรวมทั้งสัปดาห์ลดลง 0.7% เช่นกัน
บางครั้งเทรดเดอร์และผู้จัดการกองทุนจะคาดการณ์ทิศทางของทองคำ โดยดูที่ราคาสปอต ซึ่งสะท้อนถึงทองคำแท่งสำหรับการส่งมอบระยสั้น แทนที่จะดูจากสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ตลาดน้ำมันและบทสรุปราคา
ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกันจากการเก็งกำไรความต้องการเชื้อเพลิงในช่วงฤดูร้อน แม้ว่านักลงทุนบางรายจะจับตาดูราคาน้ำมันเบนซินอย่างระมัดระวัง ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่เริ่มต้นฤดูการขับขี่สูงสุดในสหรัฐ
น้ำมันดิบ WTI ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับน้ำมันของสหรัฐ ซื้อขายล่าสุดที่ 70.81 ดอลลาร์ หลังจากปิดท้ายในวันศุกร์ที่ 70.91 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 62 เซนต์ หรือ 0.9% ราคาสูงสุดของอยู่ที่ 71.23 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2018
ราคา WTI รายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 1.9% ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้น 5% และ 4% ในช่วงสองสัปดาห์ก่อนหน้า
น้ำมันเบรนท์ ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับน้ำมันทั่วโลก ซื้อขายล่าสุดที่ 72.59 ดอลลาร์ หลังจากปิดการซื้อขายในวันศุกร์ที่ 72.69 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 17 เซนต์ หรือ 0.2% ก่อนหน้านี้เบรนท์พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดที่ 73.07 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2018
ราคาเบรนท์รายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 1.1% หลังจากที่สัปดาห์ที่แล้วเพิ่มขึ้น 3% และ 5% ในสัปดาห์ก่อนหน้า
ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในช่วงก่อนหน้านี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่านี่เป็นช่วงที่อุปสงค์น้ำมันในฤดูร้อนจะมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากประเทศได้เปิดเศรษฐกิจอีกครั้งโดยสมบูรณ์หลังมาตรการล็อคดาวน์
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศซึ่งเป็นตัวแทนด้านผลประโยชน์ของผู้บริโภคน้ำมันในตะวันตก กล่าวในรายงานประจำเดือนว่า ผู้ผลิตทั่วโลกจะต้องเพิ่มผลผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการที่ตั้งไว้ เพื่อฟื้นตัวสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด ภายในสิ้นปี 2022
“OPEC+ จำเป็นต้องเปิดให้ตลาดน้ำมันโลกมีอุปทานเพียงพอ” สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานกล่าว โดยอ้างถึงองค์กร 13 ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตรที่ไม่ใช่สมาชิกอีก 10 ประเทศ
แม้จะมีมุมมองแง่บวกเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก แต่กลับมีการใช้น้ำมันเบนซินลดลงตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงฤดูร้อนที่น่าจะมีการใช้น้ำมันสูงสุดในประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายที่ใหญ่ที่สุดของโลกแห่งนี้ นั่นบ่งชี้ว่าอาจต้องใช้เวลามากขึ้นสำหรับความต้องการเชื้อเพลิงของสหรัฐในการเร่งอุปสงค์
รายงานสถานะปิโตรเลียมรายสัปดาห์ของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานแห่งสหรัฐ (EIA) ชี้ให้เห็นปัญหาซึ่งแสดงให้เห็นว่า น้ำมันเบนซินคงคลัง เพิ่มขึ้น 7.05 ล้านบาร์เรลในช่วงสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 4 มิถุนายน ซึ่งสูงกว่าประมาณการของนักวิเคราะห์ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลเกือบหกเท่า
EIA ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตันยังรายงานด้วยว่า น้ำมันกลั่นคงคลัง ซึ่งรวมถึงน้ำมันดีเซลและน้ำมันระบายความร้อน เพิ่มขึ้น 4.4 ล้านบาร์เรล เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล
น้ำมันดิบคงคลัง ลดลง 5.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 4 มิถุนายน เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 3.5 ล้านบาร์เรล
“เราจำเป็นต้องเริ่มแสดงตัวเลขรายสัปดาห์ที่แข็งแกร่งสำหรับน้ำมันเบนซินโดยเร็ว” จอห์น คิลดัฟฟ์ หุ้นส่วนผู้ก่อตั้งกองทุนป้องกันความเสี่ยงด้านพลังงานของนิวยอร์ก Again Capital กล่าว “มิฉะนั้นราคา WTI จะปรับตัวลง แม้ว่าน้ำมันดิบคงคลังจะลดลงเรื่อย ๆ ก็ตาม”
ข้อมูลด้านพลังงานประจำสัปดาห์
วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน
ตัวเลขคาดการณ์คลังน้ำมัน Cushing
วันอังคารที่ 15 มิถุนายน
รายงานน้ำมันคงคลังจาก สถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน
วันพุธที่ 16 มิถุนายน
รายงาน EIA รายสัปดาห์ สำหรับ น้ำมันดิบคงคลัง
รายงาน EIA รายสัปดาห์ สำหรับ น้ำมันเบนซินคงคลัง
รายงาน EIA รายสัปดาห์ สำหรับ น้ำมันกลั่นคงคลัง
วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน
รายงาน EIA รายสัปดาห์ สำหรับ ก๊าซธรรมชาติคงคลัง
วันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน
การสำรวจรายสัปดาห์ของ Baker Hughes สำหรับ แท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ
Disclaimer: Barani Krishnan ไม่ได้ถือครองสินทรัพย์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทความที่เขียน
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ:
มุมมองในบทความนี้แสดงถึงมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน สำหรับแพลตฟอร์มนี้ไม่รับประกันความถูกต้องครบถ้วนและทันเวลาของข้อมูลบทความ และไม่รับผิดชอบต่อการสูญเสียใด ๆ ที่เกิดจากการใช้ข้อมูลในบทความ